วันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

โครงงานสมุนไพรไทย


จัดทำโดย

1. น.ส.เบญจมาศ   จำปาแก้ว     ชั้น ม.6/1    เลขที่
2. น.ส.วรรณนิสา    ศรีลาวรรณ์   ชั้น ม.6/1   เลขที่
3. น.ส.อภิรดี           แชะรัมย์       ชั้น ม.6/1   เลขที่
4. น.ส.อิศรา           โคคาวี          ชั้น ม.6/1   เลขที่
5. น.ส.ธาราทิพย์    นาหนองตูม  ชั้น ม.6/1   เลขที่





ครูที่ปรึกษา


ครูวิเชียร แวดล้อม
ครูจักรี ภูมิลี
ครูมาลีรัตน์ อุไร




โครงงานนี้เป็นหนึ่งของวิชาคอมพิวเตอร์  ง30205 ประจำปีการศึกษา  2/2562
โรงเรียนนาสวรรค์พิทยาคม    สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา  เขต 21 








       ข้อมูลสมุนไพรไทย  




1. ขมิ้นชัน



ขมิ้นชัน


          เรียกกันทั่วไปว่า "ขมิ้น" เป็นไม้ล้มลุกมีสีเหลืองอมส้ม มีเหง้าอยู่ใต้ดิน มีกลิ่นหอม คนนิยมนำ "เหง้า" ทั้งสดและแห้งมาใช้รักษาอาการที่เกี่ยวกับกระเพาะอาหาร รวมทั้งแก้ท้องเสีย ท้องร่วง จุกเสียดแน่นท้อง และสามารถนำขมิ้นชันมาทาภายนอก เพื่อใช้รักษาแผลเรื้อรัง แผลสด โรคผิวหนัง พุพอง รักษาชันนะตุ

          นอกจากนั้น "ขมิ้นชัน" ยังอุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี และสารต้านอนุมูลอิสระ "คูเคอร์มิน" ที่ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งตับ อีกทั้งยังสร้างภูมิคุ้มกันให้ผิวหนัง หรือใครที่มีแผลอักเสบ "ขมิ้นชัน" ก็มีสรรพคุณช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น เพราะมีฤทธิ์ไปลดการอักเสบ ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนอง และหากรับประทานขมิ้นชันทุกวัน ตามเวลาจะช่วยให้ความจำดีขึ้น ไม่อ่อนเพลียยามตื่นนอน และช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น



2. บอระเพ็ด


บอระเพ็ด

บอระเพ็ด

          เมื่อเอ่ยชื่อ "บอระเพ็ด" หลายคนคงรู้สึก "ขม" ขึ้นมาทันที แต่เพราะความที่เจ้าบอระเพ็ดมีรสขมนี่ล่ะ ถึงทำให้ตัวมันเต็มเปี่ยมไปด้วยสรรพคุณทางยามากมาย ดังสำนวนที่ว่า "หวานเป็นลม ขมเป็นยา" 

          อย่างเช่น "ราก" สามารถนำไปดับพิษร้อน แก้ไข้พิษ ไข้จับสั่น ช่วยให้เจริญอาหาร "ต้น" ก็ช่วยแก้ไข้ได้เช่นกัน และยังช่วยบำรุงกำลัง บำรุงธาตุ แก้ร้อนใน แก้สะอึก แก้เลือดพิการ ส่วน "ใบ" นอกจากจะช่วยแก้ไข้ได้เหมือนส่วนอื่น ๆ แล้ว ยังช่วยแก้โลหิตคั่งในสมอง ขับพยาธิ แก้ปวดฝี ช่วยลดความร้อน ทำให้ผิวพรรณผ่องใส รักษาโรคผิวหนัง ผดผื่นคันตามร่างกาย 

          มาถึง "ดอก" ช่วยฆ่าพยาธิในท้อง ในฟัน ในหู "ผล" ใช้แก้เสมหะเป็นพิษ แก้สะอึกได้ดี แต่ถ้านำทั้ง 5 ส่วน คือ ราก ต้น ใบ ดอก ผล มารวมกัน "บอระเพ็ด" จะกลายเป็นยาอายุวัฒนะเลยทีเดียว เพราะแก้อาการได้สารพัดโรค รวมทั้งโรคริดสีดวงทวาร ฝีในมดลูก เบาหวาน ฯลฯ



3. ชุมเห็ดเทศ

ชุมเห็ดเทศ

ชุมเห็ดเทศ

          ไม้พุ่มขนาดกลาง มีดอกสีเหลือง จัดเป็นอีกหนึ่งสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยามาก โดยชุมเห็ดเทศทั้งต้น มีฤทธิ์ขับพยาธิในลำไส้ รักษาซาง โรคผิวหนัง ถ่ายเสมหะ รักษาอาการฟกช้ำบวม รักษาริดสีดวง ดีซ่าน และฝี ส่วนลำต้น จะใช้เป็นยารักษาคุดทะราด กลากเกลื้อน ช่วยขับพยาธิ ขับปัสสาวะ รักษาอาการท้องผูก

          นอกจากต้นแล้ว ใบชุมเห็ดเทศก็ได้รับความนิยมในคนที่มีอาการท้องผูกเช่นกัน เพราะสามารถนำใบซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ ไปต้มน้ำกินได้ หรือจะใช้อมบ้วนปากก็ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้ท้องเสีย ซึ่งส่งผลให้มีการสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากโดยเฉพาะโพแทสเซียม รวมทั้งอาจทำให้ดื้อยาได้ 


4. เสดพังพอน

เสลดพังพอน

          "เสลดพังพอน" มี 2 ชนิด คือ "เสลดพังพอนตัวผู้" และ "เสลดพังพอนตัวเมีย" ซึ่งทั้งสองชนิดมีสรรพคุณเด่น ๆ คือ ใช้ถอนพิษ แต่ "เสลดพังพอนตัวผู้" จะมีฤทธิ์อ่อนกว่า และส่วนใบจะมีรสขมกว่า

          ลองไปดูสรรพคุณของ "เสลดพังพอนตัวผู้" กันก่อน "ราก" ช่วยแก้ตาเหลือง ตัวเหลือง กินข้าวไม่ได้ ถอนพิษงู แมลงสัตว์กัดต่อย แก้ปวดฟัน ส่วน "ใบ" ก็ช่วยถอนพิษแมลงสัตว์กัดต่อย และยังแก้ปวดแผล แผลจากของมีคมบาด แก้โรคฝี โรคคางทูม ไฟลามทุ่ง งูสวัด เริม ฝีดาษ แก้ฟกช้ำ น้ำร้อนลวก ยุงกัด แก้ปวดฟัน เหงือกบวม

          ส่วน "เสลดพังพอนตัวเมีย" จะนำรากมาปรุงเป็นยาขับปัสสาวะ ขับประจำเดือน แก้ปวดเมื่อยที่เอว ส่วน "ใบ" ซึ่งมีรสจืดจะนำมาสกัดทำเป็นยาใช้รักษาแผลผิวหนังชนิดเริม แผลร้อนในในปาก แผลน้ำร้อนลวกได้ นอกจากนั้น ส่วนทั้ง 5 คือ ราก ต้น ใบ ดอก ผล สามารถใช้ถอนพิษต่าง ๆ ได้ดี ทั้งพิษแมลงสัตว์กัดต่อย ตะขาบ แมลงป่อง รักษาอาการอักเสบ งูสวัด ลมพิษ แผลน้ำร้อนลวก



5. ฟ้าทะลายโจร

ฟ้าทะลายโจร


          ฟ้าทะลายโจร เป็นไม้ล้มลุก สูงประมาณ 30-70 เซนติเมตร ทุกส่วนมีรสขม สรรพคุณเด่น ๆ ที่ทุกคนรู้จักกันดีก็คือ ใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้หวัดใหญ่ แก้ร้อนใน เพราะมีฤทธิ์ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย หากรับประทานบ่อย ๆ จะช่วยป้องกันไม่ให้เป็นหวัดง่าย นอกจากเรื่องหวัดแล้ว ฟ้าทะลายโจรยังระงับอาการอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ ขับเสมหะ รักษาอาการท้องเสีย ลำไส้อักเสบ รักษาโรคตับ เบาหวาน โรคงูสวัด ริดสีดวงทวาร และรสขมของฟ้าทะลายโจรยังช่วยให้เจริญอาหารขึ้น

          ข้อควรระวัง ก็คือ คนที่มีอาการเจ็บคอเนื่องจากติดเชื้อ Streptococcus group A, ผู้ที่เป็นโรคหัวใจรูห์มาติค, มีอาการเจ็บคอ เนื่องจากมีการติดเชื้อแบคทีเรีย, เป็นความดันต่ำ และสตรีมีครรภ์ ไม่ควรทานฟ้าทะลายโจร  และหากใครทานแล้วเกิดปวดท้อง ปวดเอว วิงเวียนศีรษะ ใจสั่น ควรหยุดใช้ฟ้าทะลายโจร นอกจากนั้นแล้ว ยังไม่ควรรับประทานต่อเนื่องนานเกินไป เพราะอาจทำให้แขนขามีอาการชา หรืออ่อนแรงได้



6.ก้านพลู

ก้านพลู


          ใครที่ปวดฟัน นี่คือสมุนไพรที่ช่วยรักษาอาการปวดฟันได้เป็นอย่างดี โดยตามตำรับยา ให้นำดอกที่ตูมไปแช่เหล้าขาว แล้วเอาสำลีไปชุบน้ำมาอุดรูฟัน จะช่วยบรรเทาอาการปวดฟันได้ เพราะน้ำมันหอมระเหยในกานพลูมีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ หรือจะเคี้ยวทั้งดอกแล้วอมไว้ตรงบริเวณที่ปวดฟันก็ได้ นอกจากนั้น ยังนำไปผสมน้ำเป็นน้ำยาบ้วนปาก ช่วยลดกลิ่นปาก แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้รำมะนาด 

          กานพลูยังมีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ ฉะนั้น ใครที่มีอาการปวดท้อง กานพลู ก็ช่วยลดอาการปวดท้อง ขับลม ลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ จุกเสียดจากการย่อยอาหารได้ เพราะจะไปช่วยขับน้ำดีมาย่อยไขมันได้มากขึ้น แถมยังกระตุ้นการหลั่งเมือก และลดภาวะกรดเกินในกระเพาะอาหาร 



7. ย่านาง

ย่านาง


          ย่านางเป็นสมุนไพรรสจืด เป็นยาเย็น มีฤทธิ์ดับพิษร้อน คนจึงนำใบย่านางไปคั้นเป็นน้ำคลอโรฟิลล์ เพื่อเพิ่มความสดชื่น ปรับอุณหภูมิในร่างกาย และยังนำใบย่านางไปช่วยดับพิษไข้ ดับพิษของอาหาร แก้อาการผิดสำแดง แก้พิษเมา แก้เลือดตก แก้กำเดา ลดความร้อนได้ด้วย นอกจากใบแล้ว ส่วนอื่น ๆ ของย่านางก็มีประโยชน์เช่นกัน ทั้ง "ราก" ที่ใช้แก้ไข้พิษ ไข้หัด ไข้ฝีดาษ ไข้กาฬ ไข้ทับระดู "เถาย่านาง" ใช้แก้ไข ลดความร้อนในร่างกาย 

          ขณะที่ข้อมูลทางเภสัชวิทยาระบุว่า ย่านาง ยังช่วยต้านมาลาเรีย ยับยั้งการหดเกร็งของลำไส้ ต้านฮีสตามีน ส่วนข้อมูลทางโภชนาการระบุว่า ย่านางมีเบต้าแคโรทีนในปริมาณสูง ซึ่งจะช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ในร่างกาย แถมยังอุดมไปด้วยเส้นในอาหาร แคลเซียม เหล็ก ฟอสฟอรัส ย่านางจึงเป็นหนึ่งในจำนวนผักพื้นบ้านที่นักวิจัยแนะนำให้นำมาใช้ในรูปแบบอาหารเพื่อรักษาโรคมะเร็ง



8. กระชายดำ

กระชายดำ

กระชายดำ

          สมุนไพรแสนมหัศจรรย์ของท่านชาย (อิอิ) เพราะสรรพคุณของกระชายดำที่ได้รับการกล่าวขานกันมากก็คือ สรรพคุณเพิ่มพลังทางเพศ หรือแก้โรคกามตายด้านเนื่องจากฤทธิ์ของกระชายดำจะไปบำรุงกำลัง เพิ่มฮอร์โมนให้หนุ่ม ๆ ทำให้สมรรถภาพทางเพศเพิ่มขึ้น 

          แต่ใช่ว่า กระชายดำ จะมีประโยชน์แค่เรื่องเพิ่มพลังทางเพศเท่านั้นนะ เพราะกระชายดำยังสรรพคุณมากมาย ทั้งบำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง เป็นยาเจริญอาหาร และบำรุงธาตุ แก้หัวใจสั่นหวิว แก้ลมวิงเวียนแน่นหน้าอก แผลในปาก ช่วยให้โลหิตหมุนเวียนดีขึ้น ผิวพรรณผ่องใส ขับปัสสาวะ แก้โรคกระเพาะ ฯลฯ และด้วยสรรพคุณอันแสนมหัศจรรย์มากมายขนาดนี้ กระชายดำ เลยถูกขนานนามว่าเป็น "โสมไทย" ซึ่งนิยมปลูกมากจนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดเลยทีเดียว



9. กระเจี๊ยบแดง

กระเจี๊ยบแดง


          หลายคนนำใบและยอดของกระเจี๊ยบแดงไปใส่ในแกง ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มรสเปรี้ยวในอาหารแล้ว ใบกระเจี๊ยบแดงยังแก้โรคพยาธิตัวจี๊ด แก้ไอ ละลายเสมหะ ส่วนดอกใช้แก้โรคนิ่วในไต นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ขัดเบา ละลายไขมันในเส้นเลือด 

          แต่ส่วนที่มีสรรพคุณมากเป็นพิเศษก็คือ ส่วนกลีบเลี้ยงของดอก หรือกลีบที่เหลืออยู่ที่ผล สามารถช่วยลดไขมันในเส้นเลือด ลดน้ำหนัก ลดความดันโลหิตนำไปทำเป็นน้ำกระเจี๊ยบดื่มช่วยให้ร่างกายสดชื่น ลดความเหนียวข้นของเลือด ขับปัสสาวะ ป้องกันต่อมลูกหมากโตให้คุณผู้ชายได้ด้วย และมีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่า หากรับประทานกระเจี๊ยบแดงต่อเนื่อง 1 เดือน จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ระดับไขมันในเลือด ทั้งคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ ไขมันเลว (LDL) ลดลง และยังเพิ่มไขมันชนิดดีคือ HDL ได้ด้วย



10. กระวาน

กระวาน


          เป็นสมุนไพรไทยที่มีชื่อเสียงมากในต่างประเทศ มักพบขึ้นอยู่ตามป่าที่มีความชื้นสูง เช่น ป่าแถบเขาสอยดาว จังหวัดจันทบุรี รวมทั้งแถบจังหวัดตราด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีสรรพคุณหลัก ๆ คือ ใช้เป็นยาขับลม บำรุงธาตุ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ผสมในยาถ่ายเป็นใช้ช่วยถ่ายท้องได้ 

          นอกจากนั้น "ราก" ยังช่วยฟอกโลหิต แก้ลม รักษาโรครำมะนาด "เมล็ด"ช่วยบำรุงธาตุ แก้ธาตุพิการ "เหง้าอ่อน"ใช้รับประทานเป็นผัก "หัวและหน่อ" ช่วยขับพยาธิในเนื้อให้ออกทางผิวหนัง "แก่น"ใช้ขับพิษร้าน รักษาโรคโลหิตเป็นพิษ "กระพี้" รักษาโรคผิวหนัง บำรุงโลหิต ส่วน "ใบ" ใช้แก้ลมสันนิบาต ขับเสมหะ แก้ไข้เซื่องซึม แก้จุกเสียด บำรุงกำลัง "ผลแก่" มีรสเผ็ดร้อนและมีกลิ่นหอมคล้ายการบูร มีฤทธิ์ขับลม ยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรียบางชนิด



11. มะแว้ง

มะแว้ง

มะแว้ง

          มีทั้ง "มะแว้งต้น" และ "มะแว้งเครือ" ที่มีสรรพคุณเด่น ๆ คือ ใช้เป็นยาแก้ไอ ขับเสมหะ เราจึงมักเห็นมะแว้งถูกนำมาผสมเป็นยาอมช่วยแก้ไอ ซึ่งตามตำรับยาแก้ไอแล้ว สามารถใช้ได้ทั้ง ราก ใบ ผล นอกจากนั้น ยังช่วยลดน้ำลายเหนียว บำรุงธาตุ รักษาวัณโรค แก้คอแห้ง ขับปัสสาวะ รักษาโรคทางไตและกระเพาะปัสสาวะ แก้โลหิตออกทางทวารหนัก และแก้โรคหอบหืด 

          นอกจากนั้น ลูกมะแว้งเครือสามารถนำไปปรุงอาหาร ทานเป็นผักได้ ส่วนลูกมะแว้งต้นก็ใช้ปรุงอาหารได้เช่นกัน แต่คนนิยมน้อยกว่าลูกมะแว้งเครือ 


12. รางจืด

รางจืด

รางจืด

          เมื่อพูดถึงสมุนไพรถอนพิษ หลายคนนึกถึง "รางจืด" หรือ "ว่านรางจืด" ทันที เพราะส่วนใบและรากของรางจืดสามารถปรุงเป็นยาถอนพิษยาฆ่าแมลงได้ มีประโยชน์ในเวลาที่หากใครเกิดเผลอทานยาฆ่าแมลง ยาพิษ หรือยาเบื่อเข้าไปโดยไม่ได้ตั้งใจ และอยู่ไกลโรงพยาบาล การทานรากรางจืดก็จะช่วยบรรเทาพิษในเบื้องต้นได้ 

          นอกจากนั้นแล้ว รางจืด ยังสามารถปรุงเป็นยาถอนพิษไข้ พิษแอลกอฮอล์ พิษสำแดง บรรเทาอาการเมาค้าง บรรเทาอาการผื่นแพ้ เป็นยาแก้ร้อนใน กระหายน้ำได้ แล้วรู้ไหมว่า ยังมีงานวิจัยจากกลุ่มหมอพื้นบ้านพบว่า การนำรางจืดไปต้มแล้วนำมาอาบจะช่วยทำให้ผิวพรรณผุดผ่อง และหากนำรากรางจืดมาฝนกับน้ำซาวข้าวแล้วนำไปทาหน้า จะทำให้หน้าขาว ไม่มีสิวฝ้า อุ้ย...สาว ๆ ยิ้มเลยทีนี้




13.ทองพันชั่ง

ทองพันชั่ง

ทองพันชั่ง

          เป็นสมุนไพรที่มีคุณค่าไม่ต่างไปจากชื่อ "ทองพันชั่ง" หลายพื้นที่อาจเรียกว่า "ทองคันชั่ง" หรือ "หญ้ามันไก่" เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ออกดอกสีขาว ส่วนที่ใช้ทำยาคือ ใบและราก ที่หากนำปริมาณ 1 กำมือมาต้มรับประทานเช้าเย็น จะช่วยดับพิษไข้ รักษาโรคผิวหนัง ริดสีดวงทวารหนัก แก้ไอเป็นเลือด ฆ่าพยาธิ นอกจากนั้น ยังสามารถนำใบและรากมาตำละเอียด เพื่อรักษาโรคกลาก เกลื้อน 

          นอกจากสรรพคุณข้างต้นแล้ว มีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมพบว่า "ทองพันชั่ง" มีฤทธิ์ยับยั้งมะเร็งเยื่อบุช่องปาก มะเร็งเต้านม และมะเร็งมดลูกได้ รวมทั้งช่วยขับปัสสาวะ ลดความดันโลหิตสูง แก้ผมร่วง รักษาโรคนิ่ว ฯลฯ แต่ข้อควรระวังคือ ผู้ที่เป็นโรคโลหิตจาง โรคหัวใจ โรคหืด โรคความดันโลหิตต่ำ โรคมะเร็งในเม็ดเลือด ไม่ควรรับประทาน



14. ว่านชักมดลูก

ว่านชักมดลูก

ว่านชักมดลูก

          มาที่พืชสมุนไพรสำหรับสาว ๆ กันบ้าง แค่ชื่อก็บอกอยู่แล้ว เหมาะกับคุณสุภาพสตรีเป็นที่สุด เพราะเหง้าของว่านชักมดลูกมีสรรพคุณช่วยขับประจำเดือนในสตรีที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ ส่วนผู้หญิงที่เพิ่งคลอดบุตร ว่านชักมดลูกก็จะช่วยบีบมดลูกให้เข้าอู่เร็วขึ้น ขับน้ำคาวปลา และรักษาโรคมดลูกพิการปวดบวมได้ 

          นอกจากนั้น ว่านชักมดลูก ยังแก้ริดสีดวงทวาร แก้ไส้เลื่อน แก้โรคลม รักษาอาการอาหารไม่ย่อย ขณะที่รากของว่านชักมดลูกสามารถใช้แก้ท้องอืดเฟ้อได้อีกต่างหาก 




15. หญ้าหนวดแมว

หญ้าหนวดแมว

หญ้าหนวดแมว

          ไม้ล้มลุกขนาดเล็กที่มีสรรพคุณไม่น้อย โดย "ราก" สามารถใช้ขับปัสสาวะได้"ใบ" ใช้รักษาโรคไต ช่วยขับกรดยูริกออกจากไต รักษาโรคเบาหวาน อาการปวดหลัง ไขข้ออักเสบ ลดความดันโลหิต "ต้น"ก็ใช้แก้โรคไต ขับปัสสาวะได้เช่นกัน และยังช่วยรักษาโรคนิ่ว โรคเยื่อจมูกอักเสบได้ โดยนำต้นสด หรือต้นแห้ง หรือใบอ่อน หรือใบตากแห้ง ไปชงกับน้ำ 1 แก้ว ดื่มวันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร ห้ามนำไปต้ม และไม่ควรใช้ใบแก่ หรือใบสด เพราะมีฤทธิ์กดหัวใจ ทำให้ใจสั่นและคลื่นไส้ได้

          ข้อควรระวังก็คือ ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ไต ห้ามรับประทาน เพราะในหญ้าหนวดแมวมีโพแทสเซียมสูงมาก และไม่ควรรับประทานหญ้าหนวดแมวร่วมกับแอสไพริน เพราะจะยิ่งทำให้ยาจำพวกแอสไพรินไปจับกล้มเนื้อหัวใจมากขึ้น


16. ขิง

ขิง

ขิง
  1. บรรเทาอาการหวัด ขิงมีฤทธิ์แก้ไอและรักษาอาการหวัดได้ โดยรับประทานยาแก้ไอสมุนไพรที่มีส่วนผสมของขิงภายใน 7 วัน อาการไอจะลดลงได้ และขิงสดยังมีประสิทธิภาพต่อต้านการสะสมของเชื้อไวรัสได้ดีกว่าขิงแห้งอีกด้วย โดยให้นำขิงสดกับน้ำมะนาวผสมกันแล้วใส่เกลือลงไปเล็กน้อย ทานครั้งละ 1 ช้อนชา วันละ 2 ครั้ง จะช่วยบรรเทาอาการหวัดและไอให้ดีขึ้น
  2. บรรเทาอาการปวดประจำเดือน ขิงจะช่วยกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนดีขึ้นและยังช่วยลดอาการปวดประจำเดือน เพียงแค่รับประทานสารสกัดจากขิงหรือดื่มน้ำขิงร้อนๆ วันละ 3-4 ครั้ง ตั้งแต่วันที่เริ่มมีประจำเดือนและรับประทานอย่างต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 3 ของการมีประจำเดือนก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้
  3. แก้คลื่นไส้อาเจียนในหญิงตั้งครรภ์ หญิงที่มีครรภ์เมื่อทานหรือดื่มสารสกัดจากขิงจะช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ดี โดยสามารถรับประทานได้ทั้ง แคปซูล ชาชง หรือขิงสด ประมาณ 3 สัปดาห์ จะสามารถช่วยลดความรุนแรงของอาการคลื่นไส้อาเจียนในหญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการแพ้ท้องได้  หรือจะใช้เหง้าสดทุบให้แตก แล้วต้มนำน้ำมาดื่มก็ได้
  4. ฤทธิ์บรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนหลังผ่าตัด เพียงแค่รับประทานผงเหง้าขิงครั้งละ 1-2 กรัม ก่อนการผ่าตัด 1 ชั่วโมง จะช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียนหลังการผ่าตัด หรือจะใช้น้ำมันหอมระเหยจากขิงแล้วสูดลมหายใจเข้าผ่านทางจมูกและหายใจออกทางปาก 3 ครั้งหลังจากการผ่าตัดก็จะช่วยให้อาการดีขึ้นเช่นกัน
  5. ฤทธิ์บรรเทาอาการท้องอืด ขับลม ขิงสามารถช่วยลดอาการอาการท้องอืด จุกเสียด แน่นท้อง ขับลมและกระตุ้นการทำงานของลำไส้ โดยนำขิงแก่ทุบพอแหลก เทน้ำเดือดลงไปครึ่งแก้ว ตั้งทิ้งไว้นานประมาณ 5 นาที แล้วนำมาดื่มระหว่างมื้ออาหารจะช่วยแก้อาการท้องอืดได้ดี
  6. ลดความดันโลหิต ขิงช่วยลดความดันโลหิต หลอดเลือดแดง และยังช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณรอบๆ หลอดเลือด ทั้งยังช่วยให้ระบบการไหลเวียนโลหิตได้ดี เพียงแค่นำขิงสดฝานบางๆ มาต้มกับน้ำเปล่าดื่มทุกวัน วันละ 1 แก้ว จะช่วยลดความดันโลหิตได้
  7. ลดระดับน้ำตาลในเลือดและไขมันในเลือด ขิง สามารถช่วยลดระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม ระดับไขมันในเลือด และยังช่วยรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรระมัดระวังในรับประทานขิงมากเกินไป อาจส่งผลให้ระดับอินซูลินและน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงได้ ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อน
  8. ต้านแผลในกระเพาะอาหาร ขิงจะช่วยเพิ่มการหลั่งเยื่อเมือกจากเยื่อบุกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นการช่วยปกป้องกระเพาะอาหาร ยับยั้งการหลั่งกรด และลดความเป็นกรดตลอดจนยับยั้งการทำงานของเอนไซม์เปปซิน จึงช่วยบรรเทาอาการปวดเกร็งในกระเพาะได้
  9. ลดอาการอักเสบ การทานขิงสามารถลดอาการปวดข้อและปวดบวมลดลง ทั้งยังช่วยผู้ป่วยที่มีอาการกล้ามเนื้ออักเสบให้หายปวดอีกด้วย เพราะขิงจะช่วยสกัดฮอร์โมนที่เกี่ยวกับอาการอักเสบได้ เมื่อรับประทานขิงผงเป็นประจำทุกวันจะช่วยอาการข้อขัดของผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมและบรรเทาอาการจากโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้อีกด้วย
  10. แก้ปวดศีรษะไมเกรน การรับประทานขิงสามารถลดอาการปวดไมเกรนได้ถึง 60% เพราะขิงมีฤทธิ์ในการลดการอักเสบ ลดอาการปวดในร่างกาย ช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะ ช่วยในการผ่อนคลาย ขยายหลอดเลือด และยังช่วยให้ระบบไหลเวียนโลหิตในร่างกายดีขึ้นด้วย เพียงแค่น้ำขิงผสมน้ำตาลทรายแดงก็สามารถช่วยบรรเทาอาการไมเกรนได้แล้ว
  11. ช่วยลดน้ำหนัก ขิงมีส่วนในการช่วยกระตุ้นระบบเผาผลาญในร่างกายให้ทำงานดีขึ้น เพียงแค่ดื่มน้ำขิงร้อนๆ หลังอาหารเช้าทุกวันจะช่วยเผาผลาญพลังงานและลดความรู้สึกอยากอาหารลงไปได้                    


17. อัญชัน

อัญชัน

อัญชัน
          ดอกอัญชันมีคุณสมบัติในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ โดยในดอกอัญชันนั้นมีสารตัวหนึ่งที่ชื่อว่าแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ซึ่งสารชนิดนี้สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของดวงตา เพิ่มความสามารถในการมองเห็น แก้อาการตาฟาง ตามัว หรือภาวะการเสื่อมของดวงตาที่มาจากโรคเบาหวาน โรคต้อหิน โรคต้อกระจก และมีหน้าที่ไปช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้ดีมากขึ้น

          แถมยังมีฤทธิ์ต้านการออกซิเดชั่นของไขมัน ชะลอการเกิดโรคที่เกิดจากคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี (LDL) อุดตันในหลอดเลือด และโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัวอีกด้วย และคุณสมบัติที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ดอกอัญชันนั้นยังช่วยยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือด ช่วยขับปัสสาวะ และช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ




18. กระเทียม

กระเทียม

กระเทียม
  1. ปรับความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ

  2. ลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด

  3. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด จึงเหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน

  4. บำรุงเลือด ป้องกันอาการโลหิตจาง

  5. เพิ่มภูมิต้านทานให้กับร่างกาย

  6. ป้องกันโรคหัวใจ

  7. ลดอาการท้องผูก ทำให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น

  8. ช่วยขับลม แก้อาการจุดเสียดแน่นท้อง

  9. ป้องกันไข้หวัด ยับยั้งการเจริญเติบโตของไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา

  10. มีสารต้านอนุมูลอิสระ บำรุงผิวพรรณ และลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็ง



19. ตะไคร้

ตะไคร้

ตะไคร้
  1. บำรุงไตและขับปัสสาวะ ตะไคร้มีสรรพคุณช่วยบำรุงไตให้แข็งแรง ช่วยให้ไตทำงานได้ดี อีกทั้งยังช่วยในการชำระล้างและกำจัดของเสียที่เป็นอันตรายออกจากร่างกาย
  2. บรรเทาอาการปวดและการอักเสบตะไคร้เป็นสมุนไพรที่มีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการปวดและการอักเสบจากโรคไขข้อ ช่วยลดอาการบวมอักเสบ ลดอาการปวดเมื่อย แก้เคล็ดขัดยอก
  3. แก้อาการนอนไม่หลับ ชาตะไคร้จะช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อจากความเมื่อยล้าและยังช่วยบำรุงเส้นประสาทจึงทำให้นอนหลับสบายขึ้น
  4. ไล่แมลง ตะไคร้หอมเป็นสมุนไพรที่นิยมนำมาสกัดน้ำมันหอมระเหยมากกว่าตะไคร้บ้าน มีกลิ่นหอมตรงระหว่างใบกับกาบ สามารถใช้เป็นยาทาไล่ยุง ไล่แมลง และยังไม่เป็นพิษต่อคนอีกด้วย โดยทุบตะไคร้หอมพอหยาบๆ 4-5 ต้น แล้วนำไปวางตามมุมอับกลิ่นน้ำมันที่ระเหยออกของตะไคร้หอมจะช่วยไล่ยุง
  5. แก้หวัด ตะไคร้เป็นสมุนไพรที่ช่วยแก้หวัดได้ดี เนื่องจากมีประโยชน์ในการลดไข้ บรรเทาอาการหวัด ซึ่งมีการใช้อย่างกว้างขวางในการบรรเทาอาการหวัดโดยจะช่วยขับเหงื่อ
  6. รักษาโรคเบาหวาน ตะไคร้ได้รับการวิจัยแล้วว่ามีส่วนช่วยรักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ตะไคร้จะช่วยรักษาระดับอินซูลินในระดับที่เหมาะสมและเพิ่มความทนทานต่อกลูโคสของร่างกาย
  7. บำรุงระบบประสาทและสมอง ตะไคร้เป็นยาบำรุงระบบประสาทชั้นดี บรรเทาความเครียด ช่วยคลายความวิตกกังวลและความเหนื่อยล้าที่เกิดจากความเครียด
  8. ลดคอเลสเตอรอล ตะไคร้มีสรรพคุณป้องกันภาวะไขมันในเลือดสูง โดยจะช่วยรักษาระดับไตรกลีเซอไรด์และลดคอเลสเตอรอลทไม่ดี LDL จึงช่วยป้องกันการสะสมของไขมันในเส้นเลือด
  9. แก้เวียนศีรษะ หน้ามืด ตะไคร้เป็นสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว สามารถช่วยบรรเทาอาการเวียนศีรษะ โดยทุบตะไคร้พอหยาบๆ 4-5 ต้น เพื่อให้ได้กลิ่นแล้วนำไปสูดดมกลิ่นที่ระเหยออกมาของตะไคร้จะช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะและคลื่นไส้



20. ต้นดีปรี

ต้นดีปรี

ต้นดีปรี
1. ดีปลีมีช่วยรักษาความผิดปกติต่างๆ ในระบบทางเดินอาหาร เช่น ขับลม ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่น ช่วยบำรุงธาตุ ลดอาการคลื่นไส้ อาเจียนที่มีสาเหตุมาจากปัญหาธาตุไม่ปกติ
2. ดีปลีช่วยให้เจริญอาหาร เนื่องอาหารที่มีส่วนประกอบของดีปลีจะมีกลิ่นหอม รสชาติอร่อย
3. ดีปลีมีฤทธิ์บรรเทาอาการระเคืองในกระเพาะ จึงลดโอกาสการเกิดแผลในกระเพาะอาหารและโรคกระเพาะอาหาร
4. ดีปลีมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการหวัด เจ็บคอ  รวมถึงหลอดลมอักเสบ หืดหอบ ลดเสมหะและการระคายคออันเนื่องมาจากเสมหะ
5. ดีปลีสามารถนำมาใช้ลดอาการกล้ามเนื้ออักเสบ เจ็บ ปวดบวม และฟกช้ำบริเวณผิวหนังได้ โดยนำมาปรุงเป็นยาหรือนำผลมาฝนกับน้ำแล้วทาบริเวณที่มีอาการ จะทำให้อาการบรรเทาและเลือดลมไหลเวียนได้ดีมากขึ้น
6. ดีปลีมีสรรพคุณช่วยรักษาอาการท้องร่วง ท้องเสียที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ
7. ดีปลีมีฤทธิ์ในการกดระบบประสาทส่วนกลาง จึงช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ ทำให้หลับสบายมากขึ้น
8. สรรพคุณของดีปลีช่วยขับประจำเดือน เนื่องจากมีฤทธิ์ทำให้มดลูกบีบตัว จึงเหมาะกับผู้หญิงที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ ปวดประจำเดือน ประจำเดือนมากระปริดกระปรอย
9. ดีปลีมีสรรพคุณช่วยบำรุงตับ ลดระดับไขมันและน้ำตาลในเส้นเลือด
10. ดีปลีช่วยบรรเทาอาการเหงือกอักเสบและปวดฟัน โดยนำเถาหรือกิ่งมาฝนกับน้ำแล้วใส่บริเวณที่อักเสบหรือปวด
11. ผลแห้งดีปลีนำมาประกอบอาหารประเภทผัดเผ็ด แกงคั่ว แกงเผ็ดต่างๆ ได้ กลิ่นและรสของดีปลีจะช่วยเสริมรสชาติเผ็ดร้อนให้อาหาร ทำให้อาหารอร่อยและมีกลิ่นหอม อีกทั้งยังช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ในอาหารได้อีกด้วย
12. ผลอ่อนของดีปลีสามารถรับประทานสดได้ รวมทั้งยอดอ่อนสามารถนำไปใส่ในข้าวยำได้
13. ประโยชน์ของดีปลีใช้แทนพริก เพราะนอกจากประกอบอาหารประเภทเผ็ดๆ ทั่วไปแล้ว ผลแห้งดีปลีสามารถนำมาตำน้ำพริกแทนพริกได้
14. ดีปลีจัดเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง ปลูกในเชิงการค้าทั้งในประเทศและส่งออกนอกประเทศ นิยมใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องเทศและยาสมุนไพร
15. ดีปลีสามารถนำมาบดเป็นผง นำมาแต่งกลิ่นผักดอง ใช้ลดกลิ่นคาวเนื้อสัตว์ และถนอมอาหารไม่ให้บูด
16. น้ำมันหอมระเหยจากดีปลีมีฤทธิ์เป็นย่าฆ่าแมลง ฆ่าด้วงบางชนิดที่เป็นศัตรูพืช สามารถนำมาพัฒนาเป็นยากำจัดศัตรูพืชได้



21. มะกรูด

มะกรูด

มะกรูด
1. ตัดจุกผลมะกรูดคว้านไส้กลางออกเอามหาหิงส์ใส่แล้วปิดจุก นำไปเผาไฟจนดำเกรียมบดเป็นผงละลายกับน้ำผึ้งรับประทาน จะช่วยขับลม แก้ปวดท้องหรือป้ายลิ้นเด็กอ่อน เป็นยาขับขี้เทาได้
2. น้ำมะกรูดใช้ถูกฟัน แก้เลือดออกตามไรฟัน
3. เอาผลมะกรูดมาดอง เป็นยาดองเปรี้ยวรับประทานขับลมขับระดู
4. เปลือกผลฝานบาง ๆ ชงน้ำเดือดใส่การะบูรเล็กน้อย รับประทานแก้ลมวิงเวียน
5. เปลือกฝนใช้ผสมในเครื่องสำอางบางชนิด เช่น แชมพู สบู่ (เชษฐา, 2525)

ขนาดการใช้และผลที่ได้รับจากการรักษาโรค
          - แก้ลม บำรุงหัวใจ ใช้ผิวสดหั่นเป็นชิ้น ผสมการะบูรหนึ่งหยิบมือ ชงน้ำเดือด คนให้ละลาย ปิดฝาทิ้งไว้ 3 – 5 นาที ดื่มเอาแต่น้ำ ช่วยให้ระบบไหลเวียนของโลหิตดี
          - ยาขับเสมหะ แก้ไอ ใช้ผลมะกรูดผ่าซีกเติมเกลือลนไฟให้เปลือกนิ่มบีบน้ำมะกรูดลงในคอทีละน้อย ๆ
          - เป็นยาสระผมหรืออาบ นำมะกรูดผ่าซีกลงในหม้อต้มอาบได้น้ำมันหอมระเหยอยู่บนผิวทำให้ผิวไม่แห้ง และรสเปรี้ยวของมะกรูดช่วยให้อาบสะอาดนอกจากนี้ใช้มะกรูดผ่าซีกเอาน้ำมาสระ ผม


        นอกจากมะกรูดจะยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ได้ดีแล้วยังมีรายงาน ว่าน้ำมันจากใบมะกรูดจะกระตุ้นการเจริญของเชื้อราบางชนิดได้อีกด้วย เช่น กระตุ้นการสร้างเส้นใยของราพวกมูเคอร์ อัลเทอร์นาเรีย แอสเปอร์จิลลัส และกระตุ้นการสร้างสปอร์ของแอสเปอร์จิลลัส (บัญญัติ, 2527)

สารเคมีที่สำคัญ

     สารเคมีที่สำคัญที่พบในมะกรูดนี้จะอยู่ในส่วนของน้ำมันหอมระเหยซึ่งมี ทั้งในส่วนใบและเปลือกของผลที่เรียกว่า ผิวมะกรูด โดยที่ผิวมะกรูดจะมีน้ำมันหอมระเหย เปอร์เซ็นต์ และใบจะมีน้ำมันหอมระเหย 0.08 เปอร์เซ็นต์



        มะกรูดเป็นพืชเครื่องเทศและพืชสมุนไพรมนุษย์ได้ รู้จักนำเอาประโยชน์ที่ได้รับจากมะกรูดเป็นยารักษาโรคหรือส่วนผสมของยา ช่วยแก้อาการท้องอืด ช่วยให้เจริญอาหาร ใช้ดองยาเพื่อใช้ฟอกเลือดและบำรุงโลหิตสตรี เนื้อของผลใช้เป็นยาแก้อาการปวดศีรษะและระงับการไอ ส่วนใบใช้ในการดับกลิ่นคาวในอาหารใช้เป็นยาขับลมในลำไส้ แก้จุกเสียด และผลมะกรูดที่คว้านไส้ออกนำมหาหิงค์ใส่แทนใช้เป็นยาแก้ปวดท้องในเด็กอ่อน ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องหอมและเครื่องสำอางและน้ำของมะกรูดมีกรด Citric ช่วยขจัดคราบสบู่ (ด่าง) ที่หลงเหลืออยู่ น้ำมันจากผิวมะกรูดช่วยให้ผมดกเป็นเงางาม นอกจากนี้ผิวมะกรูดจะมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ต่าง ๆ ได้ เพื่อกำจัดรังแคที่มาจากเชื้อรา







22. บัวบก


บัวบก


          หลายคนอาจเคยดื่มน้ำใบบัวบก ที่เมื่อดื่มเข้าไปแล้วช่วยแก้ร้อนใน แก้ช้ำใน ลดการกระหายน้ำได้ดีนักแล ซึ่งนอกจากใบบัวบกจะนำมาคั้นน้ำดื่มได้แล้ว ยังสามารถนำไปทาแผล ช่วยบรรเทาอาการฟกช้ำของแผลได้ด้วย เพราะในใบมีกรดมาดีคาสสิค (madecassic acid) และกรดเอเซียติก (asiatic acid) ที่มีฤทธิ์สมานแผน ไม่ว่าจะเป็นแผลสด แผลเรื้อรัง แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หรือแผลหลังผ่าตัด ใบบัวบกจะช่วยการอักเสบและทำให้แผลหายเร็วขึ้น 

          นอกจากนั้น ใบบัวบกยังช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดเชื้อเป็นหนองในได้  วิธีการใช้ก็ง่าย ๆ นำใบบัวบกสดทั้งต้น 1 กำมือ ล้างน้ำให้สะอาด แล้วตำให้ละเอียด เอาน้ำมาทาบริเวณที่เป็นแผลเป็นบ่อย ๆ ใช้กากพอกด้วยก็ได้ จะช่วยลดอาการอักเสบและทำให้แผลหายเร็วขึ้น 

          ส่วนต้นของใบบัวบก ก็มีสรรพคุณทางยามากมายไม่แพ้ใบ โดยสามารถใช้เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ แก้อ่อนเพลีย เมื่อยล้า แก้พิษงูกัด แก้ปวดศีรษะข้างเดียว ช่วยขับปัสสาวะ แก้เจ็บคอ ใช้เป็นยาห้ามเลือด ส่าแผลสด แก้โรคผิวหนัง ลดความดัน แก้ช้ำในได้เช่นกัน และถ้าใครชอบทำอาหาร อย่าลืมใส่ใบบัวบกลงผสมลงไปในเมนูของคุณด้วย เพราะในใบบัวบกมีสารอาหารเพียบ โดยเฉพาะวิตามินเอที่มีสูงมาก และยังให้คาร์โบไฮเดรต แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามิน และไนอาซีน เรียกว่า คุณค่าครบเลยล่ะ


23. ว่านหางจระเข้


ว่านหางจระเข้


          ไม้ล้มลุกใบใหญ่หนาที่ทุกคนรู้จักกันดี แม้ถิ่นกำเนิดจะอยู่ไกลถึงฝั่งเมดิเตอร์เรเนียน และแอฟริกา แต่ในประเทศไทยก็มีการปลูกว่านหางจระเข้อย่างแพร่หลาย ซึ่งในตำรับยาไทยก็ใช้ว่านหางจระเข้บำบัดอาการต่าง ๆ ได้มากมาย จนเป็นที่รู้จักว่า เป็นพืชอัศจรรย์ที่มีสรรพคุณสารพัดประโยชน์

          โดย "วุ้นในใบสด" สามารถนำมาบรรเทาอาการปวดศีรษะได้ แต่สรรพคุณเด่น ๆ ที่ทุกคนน่าจะรู้จักก็คือ นำมาพอกแผลน้ำร้อนลวก ไฟไหม้ แก้ปวดแสบปวดร้อน แผลเรื้อรัง รักษาผิวที่ถูกแดดเผา แผลในกระเพาะอาหาร และช่วยถอนพิษได้ เพราะว่านหางจระเข้มีสรรพคุณช่วยสมานแผล แต่มีข้อแนะนำว่า ก่อนใช้ควรทดสอบดูก่อนว่าแพ้หรือไม่ โดยเอาวุ้นทาบริเวณท้องแขนด้านใน ถ้าผิวไม่คันหรือแดงก็ใช้ได้ นอกจากส่วนวุ้นในใบสดแล้ว ส่วน "ยางในใบ" ก็สามารถนำมาทำเป็นยาระบายได้ และส่วน "เหง้า" ก็นำไปต้มน้ำรับประทาน แก้โรคหนองในได้